Welcome to OK betong

You can find about Article tourism and festivals Reviews.

10/28/2009

แม่กำปอง : การท่องเที่ยวชุมชน

ด้วยระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่เพียง 50 กิโลเมตร บนหุบเขาสูงราว 1,300 เมตร และอากาศที่เย็นสบายตลอดปี พร้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และน้ำตก หลายท่านคงสามารถจินตนาการถึงสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจที่สวยงามแห่งหนึ่ง และเมื่อประกอบกับแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว เป็นชุมชนที่มีวิถีการดำเนินชีวิตในลักษณะเฉพาะ มีการทำไร่เมี่ยงและกิจกรรมทางสังคมเศรษฐกิจอื่นที่น่าศึกษา ข้อได้เปรียบเหล่านี้คงเป็นเหตุผลเพียงพอสำหรับชุมชนที่จะเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งกลุ่ม ที่ต้องการแค่การพักผ่อน และกลุ่มที่อยากเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นเพิ่มเติม ให้แวะเวียนมายังชุมชนแห่งนี้

ชุมชนที่เรากำลังกล่าวถึง คือ หมู่บ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในกระแสการท่องเที่ยวชุมชน (Community-Based Tourism - CBT) ที่หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรอิสระ กำลังพยายามผลักดันให้เป็นแนวทางจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แทนที่การจัดการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ ในลักษณะอุตสาหกรรมที่เราคุ้นเคย

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ตามข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในปี 2550 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย มีจำนวนถึง 14.46 ล้านคน สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวมูลค่าสูงถึง 547,782 ล้านบาท รายได้จำนวนนี้ยังไม่รวมถึงเงินหมุนเวียนภายในประเทศ จากการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวชาวไทย 380,417 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้การจัดการท่องเที่ยวในรูปอุตสาหกรรมจะนำมาซึ่งรายได้จำนวนมาก แต่ก็ได้สร้างต้นทุนจำนวนมหาศาลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ในปี 2547 จำนวนขยะที่กรมควบคุมมลพิษ ตรวจวัดได้ในจังหวัดภูเก็ต มีสูงถึง 500 ตันต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้มีขยะจำนวนมากที่เป็นพิษ และไม่สามารถรีไซเคิลได้

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการประชุม World Economic Forum 2008 ยังระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 90 ของโลก ในเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในขณะที่คู่แข่งด้านการท่องเที่ยวอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 12 และ 27 ตามลำดับ กระแสการจัดการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงศักยภาพและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น จึงเป็นอีกความพยายามที่จะตอบสนองต่อข้อจำกัดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเกิดขึ้นท่ามกลางคำถามจำนวนมากต่อการพัฒนาที่มุ่งเน้นรายได้ และความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

ผู้เขียนมีโอกาสไปทำวิจัยที่บ้านแม่กำปองในช่วงที่การท่องเที่ยวชุมชนกำลังเริ่มต้นเมื่อปี 2543 ในขณะนั้น อดีตผู้ใหญ่บ้านพ่อหลวงพรหมมินทร์ พวงมาลา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวทางการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ข้อได้เปรียบประการหนึ่งของบ้านแม่กำปอง คือ ความเข้มแข็งและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชุมชน ก่อนการตัดสินใจเปิดหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นทุนทางสังคมจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชน เพื่อจัดตั้งโครงการสหกรณ์การไฟฟ้า ที่นำน้ำตกของหมู่บ้านมาผลิตไฟ ก่อนหน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะดำเนินการขยายระบบไฟฟ้าถึงหมู่บ้าน

และโครงการดังกล่าวยังได้สร้างจิตสำนึกรักษ์และหวงแหนทรัพยากรท้องถิ่นไปด้วย ประกอบกับการริเริ่มการท่องเที่ยวชุมชน เป็นการตัดสินใจของคนในชุมชนเอง ชุมชนเป็นผู้แสวงหาความร่วมมือ และการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก การท่องเที่ยวจึงไม่ได้เกิดจากการรุกคืบเข้ามาของนายทุนภายนอกเป็นสำคัญ

ในขณะเดียวกัน เมื่อชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว รายได้ทั้งหมดจะถูกนำมารวมอยู่ที่สหกรณ์การไฟฟ้า เพื่อการแบ่งปันผลกำไรที่สู่สมาชิก หลังดำเนินโครงการท่องเที่ยวชุมชนมาเกือบสิบปี บ้านแม่กำปองมีโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐาน และได้รับรางวัล OTOP โดยนำการท่องเที่ยวเป็นผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้าน ผลประโยชน์ที่ชุมชนได้รับจากการท่องเที่ยว ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เสริม และสามารถคงวิถีชีวิตและยึดอาชีพหลักเป็นการทำไร่เมี่ยงดั้งเดิม และยังได้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปาหมู่บ้าน และถนนลาดยางที่พัฒนาขึ้นพร้อมๆ กับการเปิดการท่องเที่ยวชุมชน

แต่กระนั้น ความสำเร็จในการจัดการท่องเที่ยวของบ้านแม่กำปอง ก็ไม่สามารถหนีพ้นตรรกะของทุน เพราะเมื่อระบบสาธารณูปโภคพร้อมมูลและชุมชนได้รับความนิยม และการกล่าวขานถึงแล้ว นายทุนจากนอกหมู่บ้านก็เริ่มเข้าจับจองพื้นที่เพื่อหาผลประโยชน์

ในปัจจุบันใจกลางหมู่บ้านมีโฮมสเตย์อย่างน้อยสองแห่ง ที่เปิดให้บริการโดยคนนอกหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ และต่างปฏิเสธการให้ความร่วมมือกับกิจกรรมของชุมชน และสร้างความรำคาญให้กับนักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะหนึ่งในโฮมสเตย์ดังกล่าวมีคาราโอเกะให้บริการ ไม่นับรวมถึงการเพิ่มต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมในเรื่องขยะมูลฝอย และการลักลอบนำพรรณไม้ออกจากพื้นที่

ในขณะเดียวกัน ทรัพยากรหมู่บ้านได้เริ่มกลายเป็นสินค้าเพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยน ที่รองรับรสนิยมการบริโภคธรรมชาติของคนจากในเมือง ราคาที่ดินซึ่งพุ่งสูงขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของถนนลาดยาง ได้ทำให้คนในชุมชนหลายคนขายที่ดินให้กับคนนอกได้นำไปสร้างบ้านพักตากอากาศส่วนตัว จากการสนทนากับพ่อหลวงพรหมมินทร์ ปัญหาการขายที่ดินเป็นประเด็นที่กลุ่มจัดการท่องเที่ยวไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น จากที่ดินแปลงละไม่กี่ร้อยบาท ในปัจจุบัน สนนราคาที่ดิน สค.1 ที่อยู่ไกลจากชุมชนจะอยู่ที่ไร่ละ 2 แสนบาท และที่ดินที่ทำเลดีจะมีราคาสูงถึงหลักล้าน คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ได้รับมรดกที่ดินมา ก็ตัดสินใจขายที่ดินเพื่อนำเงินที่ได้ส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อในเมือง

สถานการณ์การท่องเที่ยวชุมชนของบ้านแม่กำปอง จึงกำลังเผชิญความท้าทายจากการผนวกชุมชนเข้าสู่ระบบตลาดเสรี ที่มีลักษณะความสัมพันธ์ในรูปแบบการแลกเปลี่ยน เป็นสำคัญ

เราคงไม่ไปตัดสินว่า การรุกคืบของทุนจากภายนอกชุมชนเป็นสิ่งที่เลวร้าย และสมควรขัดขวาง เพราะไม่มีชุมชนใดสามารถปิดตัวเองได้ตลอดไป แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า ชุมชนจะสามารถสร้างเงื่อนไข รองรับการจัดการท่องเที่ยวและผลกระทบที่ตามมาได้อย่างไร เพราะคุณูปการของการท่องเที่ยวในลักษณะเช่นนี้ เป็นประโยชน์กับทั้งผู้มาเที่ยวและชุมชน

ในขณะเดียวกัน ปัจจัยผลักดันหนึ่งของกระแสการท่องเที่ยวชุมชนก็มาจากความโหยหาของคนชั้นกลางในเมือง ที่ต้องการใกล้ชิดกับธรรมชาติและวิถีชีวิตผู้คนในท้องถิ่นมากขึ้น การซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศ จึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนพฤติกรรมของคนชั้นกลางในเมืองจำนวนหนึ่ง ที่มาพร้อมกับการคุกคาม และลิดรอนสิทธิของชุมชน และนักท่องเที่ยวอื่น ซึ่งท้ายที่สุด จะนำไปสู่การเผชิญหน้าและความขัดแย้ง

ดังนั้น การสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ด้านการท่องเที่ยว ให้ชุมชนเจ้าของพื้นที่ท่องเที่ยว ตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรในชุมชนตนเอง ในขณะเดียวกัน การสร้างนักท่องเที่ยวที่รู้จักเคารพท้องถิ่นที่ตนไปเยือน และเห็นคุณค่าวิถีชีวิต วัฒนธรรมของท้องถิ่นอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องตีค่าออกมาเป็นเงินตรา หรือครอบครองสิ่งเหล่านั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต

0 comments:

Post a Comment

A lot of Thank for your comment.

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More