Welcome to OK betong

You can find about Article tourism and festivals Reviews.

10/25/2009

สมานฉันท์ ? บั่นทอน ? บ่อนทำลาย???


ตอนที่แล้วผมได้เขียนถึงถ้อยแถลงการณ์ของ 24 องค์กร ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงเดือน ตุลาคม ถัดมาอีกวันก็มีจ้อเรียกร้องจาก ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ที่เรียกร้องให้รัฐบาล นำปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เข้าประชุม ในเวทีอาเซียน โดย
ที่สำนักงานสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย อ.เมือง จ.ยะลา นายวิศิษฐ์ ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนั้น ทางภาคประชาชน ได้มีการประชุมร่วมกันที่กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในส่วนของภาคใต้ได้เสนอให้รัฐบาล นำเรื่อง แนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลดความรุนแรงในพื้นที่ด้วยสันติวิธี รวมทั้งลดกำลังทหารลง ใช้ระบบการเมืองนำการทหาร ให้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย โดยการกระจายอำนาจอย่างชัดเจน รวมทั้งให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด นอกจากนั้น ให้รัฐบาลส่งเสริมในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการประกาศใช้กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน และล่าสุดการประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งในส่วนนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้มีการระบุว่ายังมีการซ้อมการทรมาน การจับกุมที่ไม่เป็นธรรม โดยในเรื่องนี้ ควรจะนำเข้าไปในเวทีประชุมอาเซี่ยน เพื่อให้รับทราบและร่วมมือกันแก้ปัญหา เนื่องจาก หากมีการพูดคุยในระดับดังกล่าวแล้ว ประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์ จากข้อตกลงในระดับอาเซี่ยน ซึ่งจะมีการตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการอาเซี่ยน ภาคประชาชน และภาครัฐบาล และหากมีการละเมิดเกิดขึ้น ก็จะมีการตรวจสอบที่แท้จริง เนื่องจากในขณะนี้การใช้กฎหมายต่างๆในพื้นที่ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอยู่
ทั้งหมดคือข้อเรียกร้องที่ สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เรียกร้องรัฐบาล หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ ปี 2550 ที่มีการชุมนุมของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี มีคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างตัวว่ามาจากสมาคมแห่งนี้ มีส่วนร่วมในการชุมนุมในครั้งนั้นด้วย และหากพิจารณาข้อเรียกร้องในครั้งนี้ไม่แตกต่างจากการเรียกร้องในครั้งที่ผ่านมา เพียงแต่ใช้ช่วงเวลาที่มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเป็นโอกาสเสนอข้อเรียกร้อง ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีประเทศมุสลิม และมีอำนาจการต่อรองในเวทีโลกสูงหลายประเทศเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ดังนั้นแผนการใช้ศาสนาเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นเนื้อเดียวกัน ว่ามุสลิมถูกรังแกและละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งดึงให้องค์กรสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือ ในการผลักดันอีกทาง ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้สูง ซึ่งแน่นอนว่าหากรัฐบาลนำเรื่องนี้เข้าหารือก็เท่ากับว่ารฐบาลยอมรับสภาพ และปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้ ก็จะถูกยกระดับเป็นปัญหาระดับภูมิภาคอาเซียน ก่อนที่จะถูกปั่นต่อเข้า UN โดยผ่านทาง OIC หรือกลุ่มประเทศมุสลิม ให้กลายเป็นปัญหาสากล เพื่อดึงพวกหมวกฟ้า (UN)มาเป็นคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ย ในเงื่อนไขนี้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้มีความพยายามหลายครั้ง อย่างเช่นกรณี 131 คนไทยในมาเลเซีย ยังไม่จบ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบไม่ได้กระจอกอย่างที่มีผู้นำประเทศบางคนปรามาส แต่มีภูมิความรู้ระดับเซียน ในการวางหมากเดินเกมส์ และมีสายสัมพันธ์กับบุคคลระดับสูงในกลุ่มประเทศมุสลิมและประเทศในกลุ่มอาเซียน ดังนั้นการเกิดองค์กรและกลุ่มต่างๆมาเรียกร้องนั้นคงไม่ใช่เป็นเรื่องลอยๆ แต่มีหลักการมีจังหวะสอดคล้องกับการก่อเหตุ การประชุม หากเพิกเฉยโดยที่พยายามเลี่ยงการรับรู้ จะกลายเป็นการเปิดทางให้คนกลุ่มนี้ชักศึกเข้าบ้านเป็นแน่ ในสภาพความเป็นจริงทุกวันนี้การมีทหารในพื้นที่และการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินนั้นมีผลกระทบความเป็นอยู่ของสุจริตชนน้อยมาก มีแต่จะเป็นเรื่องดีประชาชนอุ่นใจรู้สึกปลอดภัย สำหรับคนที่ไม่สบายใจ อึดอัดและหวาดระแวงถ้าไม่ใช่ตัวผู้ก่อการ และแนวร่วมของโจรใต้แล้วจะเป็นใคร เพราะการที่มีด่านตรวจและเจ้าหน้าที่คอยตรวจที่ค่อนข้างละเอียด ทำให้การเคลื่อนไหวของตัวผู้ก่อเหตุและแนวร่วมถูกจำกัด ไม่สะดวกเหมือนในช่วงก่อนหน้านี้ จึงได้พยายามสร้างสถานการณ์และการบิดเบือนข้อเท็จจริง(มูนาฟิกร์)นำเผยแพร่ต่อโลกภายนอก พร้อมทั้งใช้กลุ่มสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่ถูกต้องตามกฏหมายต่างๆ เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหว ในลักษณะของการใช้การเมืองพร้อมกับการปฏิบัติการทางทหาร ในขณะที่รัฐบาลพยายามใช้การเมือง (ที่อ่อนแอเพราะปัญหาภายใน)นำการทหาร ในขณะที่ทหารก็มีความพยายามกระทำในสิ่งที่ไม่ถนัดคือการใช้การเมืองและสร้างมวลชน(ที่ไม่เนียน) ซึ่งจะว่าทหารก็ไม่ได้เพราะที่ผ่านมาฝ่ายพลเรือนได้แต่นั่งวางแผนทำโครงการในห้องแอร์ ไม่กล้าลงพื้นที่ทหารจึงจำเป็นต้องทำงานในสองบทบาทในเวลาเดียวกัน และที่ลึกลงไปกว่านั้น คือความโปร่งใสในการใช้เงินงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ จึงส่งผลให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังจะกลายเป็นกระดานหมากรุกการเมือง แหล่งหาผลประโยชน์จากงบประมาณและตำแหน่งหน้าที่ คนที่ยังคงต้องเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอยู่อย่างขมขื่นคือประชาชนคนชายแดนใต้ ที่มีสำนึกรักแผ่นดินมากกว่าข้าราชการและนักการเมืองอีกหลายคน เราต้องเรียนรู้ให้ทันกับกลุ่มที่คิดจะแยกแผ่นดินไว้ครับ รู้ให้ทันกับนักการเมืองที่คิดแต่เรื่องประโยชน์ส่วนตัว แล้วน้อมนำแนวทางพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "รู้รักสามัคคี" มาเป็นแนวทางปฏิบัติ ผนึกกำลังกันไว้เพื่อรับมือกับพวกเนรคุณแผ่นดินกันครับพี่น้องชาวไทยผู้รักชาติ คราวหน้าคุยกันใหม่ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องที่ทุกท่านควรรู้ให้เท่าทัน ผู้ที่คิดร้ายกับแผ่นดินครับ

0 comments:

Post a Comment

A lot of Thank for your comment.

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More