Welcome to OK betong

You can find about Article tourism and festivals Reviews.

10/24/2009

แถลงการณ์ หรือ ข้อเรียกร้องโปรดพิจารณา...


ตอนแรกที่ทำ blog navigater ขึ้นมาเพื่อที่จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือเรื่องอื่นๆ ที่มีความสนใจเป็นการส่วนตัว แบ่งปันประสบการณ์กับเพือนๆชาวโลกออนไลน์ จะไม่ยุ่งเรื่องการเมืองหรือความขัดแย้งใดๆ ในสังคมรอบข้าง แต่จนแล้วจนรอด อดใจไม่ไหวเลยต้องออกมาวิพากษ์ ในฐานะคนไทยในพื้นที่ ที่เคยสัมผัสกับสถานการณ์เลวร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเกือบชาชิน นับตั้งแต่ ปี 2535 ต่อเนื่องจนมาถึงวันนี้ ย่อมรู้ตื้นลึกหนาบางของปูมหลังที่เกี่ยวเนื่องโยงใย กับเหตุการณ์ปัจจุบันพอสมควร ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ลึกซึ้งเท่าหน่วยข่าวกรองระดับชาติ แต่พอที่จะประเมินสถานการณ์ได้บ้าง และอาจจะดีกว่าคนนอกพื้นที่ ที่ส่งไปแก้ปัญหาภาคใต้ในเวลานี้หลายคนละ เพราะข้อมูลที่ถูกกรองแล้วกับข้อมูลดิบมันแตกต่างกัน หากใครที่ติดตามข่าวภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง คงพอจะจำกันได้ดีว่าสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ไม่ใช่เริ่มนับที่ปี 2547 แต่นับย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นหลายสิบปีแต่ข่าวที่ออกไม่กระพือเท่าทุกวันนี้ และนับตั้งแต่เกิดการปล้นปืนทหาร มีคนขโมยซีนแย่งกันดังเยอะ บรรดากูรูที่เป็นนักวิชาการหลายสำนักออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆนานา เอาละผ่านเรื่องนี้ไปก่อนไว้มีเวลาจะเก็บตกกันคราวหน้า เผื่อว่าใครที่สนใจเรื่องภาคใต้จะได้มีข้อมูลอีกด้านที่แตกต่าง สำหรับการวิเคราะห์ในรายละเอียดครับ เมื่อประมาณ 2-3 วันก่อนได้อ่านข่าวพบคำแถลงการณ์ของ 24 องค์กร ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ออกแถลงการณ์ประณามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หลังก่อเหตุรถจักรยานยนต์บอม กลางตลาดสดยะลาเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 แถลงการณ์ฉบับนี้ออกในวันที่ 22 ตุลาคม 2552 ห่างกัน 3 วัน ซึ่งอยู่ในช่วงของการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลองมาดูถ้อยแถลงกันครับว่าเขามีเนื้อหาว่าอย่างไรกันบ้าง...
"นายวิศิษฐ์ ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ได้อ่านแถลงการณ์ ขององค์กรภาคประชาสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย ที่ ร่วมกันแสดงจุดยืนคัดค้านการก่อเหตุความรุนแรงที่สร้างความเสียหายต่อผู้บริสุทธิ์ ในเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน ว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่มัสยิดไอปาร์แย และเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นช่วงของการผลัดเปลี่ยนกำลังของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามี เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีลักษณะไปในการสร้างความรุนแรงเสียหายต่อผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่สาธารณะ และการสร้างความแตกแยก เช่น เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 เหตุการณ์ระเบิดในงานประเพณีชักพระที่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 17 ราย ทั้งนี้จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากโรงพักประมาณ 100 เมตร และเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา เหตุเกิดที่ อำเภอสุไหง - โกลก จังหวัดนราธิวาส มีเหตุการณ์ความรุนแรง 2 เหตุการณ์ คือ การกราดยิงทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนาย เป็นผู้หญิง และเด็ก รวมเป็น 3 รายและมีการปาระเบิดมือซ้ำไปในที่เกิดเหตุ และล่าสุดเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เหตุจักรยานยนต์บอมบ์ ภายในตลาดสด กลางเมืองยะลา เบื้องต้นส่งผลชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บจำนวน 26 คนเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 คน ซึ่งกระทำดังกล่าวของผู้ใช้ความรุนแรง ถือว่าเป็นการขัดขวางกับการสร้างสันติภาพส่งผลต่อสวัสดิภาพ และความปลอดภัยต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ และสร้างความสูญเสียความเชื่อมั่นต่อการรักษาความปลอดภัยของฝ่ายรัฐ ทั้ง ๆ ที่มีความพยายามของทุกภาคส่วนที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรง และแสวงหนทางยุติความรุนแรงและความขัดแย้ง โดยสันติวิธี ทั้งนี้ภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคประชาสังคมของไทยที่ได้ร่วมประชุมกับกันที่กับองค์กรมุสลิมในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 16 ตุลามคม พ.ศ. 2552 ณ ศูนย์กลางอิสลาม กรุงเทพมหานคร และร่วมเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน ระหว่างวันที่ 18 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ที่ โรงแรมฮอลลิเดย์อินน์ รีเจนท์ อ.ชะอา จ.เพชรบุรี ก็ตอกย้ำถึงความพยายามของภาคประชาสังคมในสร้างความสันติภาพด้วยแนวทางสันติวิธี รวมทั้งกันในประเทศไทยและในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน ในแถลงการณ์ดังกล่าว ยังระบุอีกว่า องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขอเรียกร้องต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ฯ ของประเทศไทยดังนี้ ขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างสันติภาพ โดยสร้างสวัสดิภาพ และความปลอดภัยต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุติ และควบคุมการติดอาวุธประชาชน การตรวจสอบการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ที่ ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อย่างเคร่งครัด มีมาตรการห้ามการซื้อขายอาวุธปืน สารตั้งต้นระเบิด และอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างเด็ดขาด รวมทั้งพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมืออาชีพ และเป็นอิสระ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ และแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาปรับปรุงปฏิรูปนโยบายต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการพัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม และ ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดแนวทางการพัฒนาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่มีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทั้งชาวมุสลิมส่วนใหญ่ และชาวพุทธในพื้นที่อย่างเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ"
ผมอ่านหลายตลบยังไม่เจอถ้อยคำใดที่เป็นการประนามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเลย มีแต่เรียกร้องให้ภาครัฐตรวจสอบการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่และกองกำลังประจำถิ่น (ชรบ.,อรบ.,อส.ฯลฯ)ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วบุคคลเหล่านี้ ได้ถูกตรวจสอบประวัติโดยละเอียดแล้ว อีกทั้งการมีอาวุธไว้เพื่อใช้ในทางราชการป้องกันเหตุร้าย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินโดยรวมของประชาชนในพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขนาดมีอาวุธอยู่กับมือยังตายรายวันเลย หากไม่มีอาวุธแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ ได้มีการเรียกร้องให้มีการถอนกำลังทหารมานานแล้ว ในครั้งนั้นจำได้ว่า มีนายอานันต์ ปันยารชุน และคณะได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชน ข้อเท็จจริงมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริงๆอยู่ในที่ประชุมไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นและไม่มีโอกาสได้ให้ข้อมูลเลย ซึ่งในที่ประชุมมีกลุ่มผู้นำศาสนาได้เสนอให้ถอนกองกำลังทหารออกนอกพื้นที่ โดยอ้างว่าประชาชนกลัวทหาร แต่เมื่อประธานที่ประชุมถามว่าหากถอนทหารออกนอกพื้นที่แล้วเหตุการณ์จะสงบหรือไม่ ไม่มีใครรับรองได้ ดังนั้นเรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจลึกไปกว่านี้ครับ อดใจรอครับแล้วจะมาวิพากษ์กันต่อ ซึ่งหลังจากแถลงการณ์เพียงหนึ่งวัน ก็มีข้อเรียกจากที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เพิ่มเติมอีก ขอพักก่อนคราวหน้ามาว่ากันต่อครับท่านจะได้เข้าใจแผนการณ์ได้ลึกซึ้งกว่านี้ว่าเขาจะเดินเกมส์อย่างไรต่อ โดยใช้เวทีที่ประชุมสมาชิกอาเซียนเป็นที่เดินเกมส์ป่วนใต้เพื่อแยกแผ่นดินครับพี่น้องคนไทยผู้รักชาติทุกท่าน

0 comments:

Post a Comment

A lot of Thank for your comment.

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More