Welcome to OK betong

You can find about Article tourism and festivals Reviews.

10/22/2009

ปลายฝนต้นหนาว "เข้าป่า"


ปลายฝนต้นหนาว หมายถึงช่วงรอยต่อของฤดูกาล ระหว่างฤดูฝนที่กำลังจะหมดไป ฤดูหนาวรอบใหม่จะมาถึง ซึ่งในช่วงนี้ธรรมชาติของป่าจะสวยสมบูรณ์ เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจและมีที่สีสันที่สุดช่วงเวลาหนึ่งของ วัฏจักรในธรรมชาติ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อ สืบทอด ขยายพันธุ์ และปรับตัวเพื่อความอยู่รอดจากความแห้งแล้งที่เข้ามาเยือนอย่างน้อย อีก 4-5 เดือน สัตว์ป่าบางชนิดจะเริ่มรวมฝูงเพื่อเตรียมผสมพันธุ์ สีสันของบรรดาตัวผู้ทั้งหลายก็จะเริ่มปรากฏในช่วงนี้ เพื่ออวดโฉมให้ตัวเมียหลงใหล และนำไปสู่การสืบทอดขยายพันธุ์ในที่สุด นกหลายชนิดจะเปลี่ยนแปลงสีสันของตัวเองให้สดใสมีสีสันเพื่อเชื้อเชิญ ตัวเมียให้เข้ามาผสมพันธุ์ ช่วงนี้นักท่องเที่ยวที่นิยมไพร ชื่นชอบการถ่ายภาพและเดินป่า ถือเป็น high season เพราะถ้าเลยช่วงนี้ไป สภาพป่าจะเปลี่ยนไป เพื่อปรับตัวรับสภาวะช่วงหน้าแล้ง ดังนั้นใครที่ชอบและใครที่ยังไม่เคยใช้ชีวิตกลางแจ้ง โอกาสมาถึงแล้วครับ เตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเพราะ ช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม เป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวป่าและถ่ายรูปธรรมชาติเป็นอย่างยิ่งเพราะอากาศค่อนข้างปลอดโปร่ง และหนาวเย็น สีสันของธรรมชาติดูสวยงามและละมุนละไม การท่องเที่ยวที่ถูกต้อง ถือว่าเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง...
การทำกิจกรรมใดๆในป่า ไม่ว่าจะเป็นบริเวณบ้านพักหรือ แค้มป์ในป่า เช่น การก่อไฟ การใช้เสียง การสัมผัสกับสัตว์ในระยะใกล้ การเดินท่องเที่ยวในเส้นทางเดินป่า จะต้องใช้ความระวังเป็นพิเศษ อาจหลงป่าได้ ควรสอบถามชนิดเครื่องหมายที่อุทยานฯทำไว้ใช้เป็นจุดสังเกตหรือขอเจ้าหน้าที่นำทางจะเป็นการดีที่สุด
หากพบเจอสัตว์ป่าในระหว่างเส้นทางเดินป่า ควรหลีกเลี่ยงเพราะจะเป็นการรบกวนความสงบหรือ อาจเกิดอันตรายจากพฤติกรรมที่ดุร้ายในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของสัตว์ป่าได้ ห้ามให้อาหารสัตว์ป่าที่พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นบริเวณริมถนนหรือที่พัก เพราะสัตว์ป่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการหากิน และเป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตอันเป็นปกติสุขของมัน ควรหลีกเลี่ยงเรื่องการนำวัสดุที่เป็นขยะเข้าป่าเพราะจะเป็นต้นเหตุของการทำลายระบบนิเวศน์ของป่า


การเตรียมตัวเที่ยวป่า ในช่วงนี้ต้องเตรียมอุปกรณ์ที่สามารถป้องกันการเปียกชื้น อุปกรณ์กันหนาว แต่บางที่ก็เอาแน่กับฤดูกาลในป่าเขาไม่ได้เหมือนกัน หากป่ามีความชื้นเพียงพอก็อาจทำให้ฝนตกได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าดิบชื้น โอกาสที่จะมีฝนตกนอกฤดูกาล มีสูง จึงไม่ควรประมาท ถ้าหากไม่ลำบากมากจนเกินไปก็ควรเตรียมสัมภาระให้พร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดไว้ด้วยจะเป็นการดี เช่น ผ้ากันน้ำค้าง/ฝน แม้ว่าจะเป็นฤดูหนาว แต่กลางคืนจะมีน้ำค้างแรงมาก ชนิดที่เรียกได้ว่าหยดลงมาคล้ายเม็ดฝนเลยทีเดียว ฟายชีท หรือผ้ากันฝน และหมวก เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันสำหรับผู้ที่ชอบบรรยากาศแบบกางเต็นท์ เพราะจะทำให้คุณนอนหลับอย่างสบายภายในเต็นท์ยามค่ำคืน ไฟฉาย ยาและเวชภัณฑ์ ฯลฯ แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังนอกจากสัตว์ใหญ่ที่มีอันตราย อย่าง ช้าง ,หมี,หรืองูมีพิษ แล้ว แมลงตัวเล็กก็อย่าประมาท อย่างเช่น เห็บ หากคุณเดินเข้าไปท่องเที่ยวในป่าหรือเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปลายหนาวต่อฤดูแล้งให้พึงระวัง ตัวเห็บ ไว้ด้วย ตั้งแต่เห็บตัวใหญ่หรือที่เรียกกันว่าเห็บควาย ตัวขนาดประมาณเส้นผ่าศูนย์กลางของด้ามปากกา เห็บธรรมดาหรือเห็บหมา เห็บลม ที่ตัวเล็กมากจนถ้าไม่สังเกตให้ดีก็จะมองไม่เห็น ชอบอยู่ตามขอนไม้ผุ ใบหญ้าคาแห้ง หรือตามใบไม้ที่มีขน ใยแมงมุม เห็บใหญ่ไม่ค่อยเป็นปัญหามากนักเพราะตัวใหญ่เห็นง่าย แต่เห็บเล็กหรือเห็บลมนี่สิ ที่แม้กระทั่งนักเดินป่าตัวยง ยังขยาด เพราะหากถูกกัดแล้ว กว่าจะรู้สึกตัวก็หลายวันหรือจนเป็นไข้นั่นแหละ วิธีง่ายที่สุดก็คือหลีกเลี่ยงการเดินประเภทลุยดะ หรือพอเหนื่อยหมดแรงแล้วล้มตัวลงนอนโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง คุณอาจจะได้ของฝากกับบ้านก็ได้
วิธีสังเกตง่ายๆ สำหรับเจ้าเห็บลมนี้คือ จะชอบเกาะตามเนื้ออ่อน ข้อพับ หลังใบหู หางคิ้ว สะดือ หรือเอว ดังนั้นเมื่อคุณกลับมาถึงที่พักก่อนอาบน้ำก็ให้สำรวจตามจุดต่างๆเหล่านี้ว่ามีเจ้า เห็บนี้ก็อยู่หรือเปล่า ถ้ามีก็ค่อยๆบรรจงแกะออกอย่างทะนุถนอม ระวังอย่าให้หัวมันฝังอยู่ในเนื้อ เพราะส่วนนั้นแหละคือส่วนที่เป็นพิษจนอาจทำให้คุณเป็นไข้ได้ หากสำรวจจนทั่วแล้ว ก็ให้คอยสังเกตตัวเองว่า มีอาการคันผิดปกติตรงไหน หรือปวดแสบบริเวณใต้ร่มผ้าส่วนไหน ก็หาดู อาจจะเจอต้นเหตุแห่งความเจ็บคันนั้นได้
เป็นคำแนะนำเล็กๆน้อยๆ สำหรับนักเดินป่าล่าภาพ สมัครเล่นทริปหน้าจะมาเล่าใหม่ พร้อมทริปการเก็บภาพที่น่าสนใจเผื่อได้ภาพสวยมาอวดสายตาคนที่ไม่ได้ไปให้น้ำลายหกเล่นบ้าง พบกันตอนหน้าครับ

0 comments:

Post a Comment

A lot of Thank for your comment.

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More