"ผม เห็นโครงการวัฒนธรรมสายใยชุมชน ต.ทรายขาวแล้ว ชื่นชมกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน และชอบวิธีคิดของพวกเขา
หากแต่ละตำบลทำได้อย่างทรายขาว ก็จะสร้างความสมานฉันท์ให้ชุมชน ประชาชนในพื้นที่อยู่ได้อย่างสงบสุข พร้อมทั้งให้ทรายขาวเป็นต้นแบบการศึกษาดูงานของตำบลอื่นใน 3 จชต. และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
จะได้เห็นว่า โครงการนี้ ไม่ใช่เพียงแค่โครงการระดับชุมชน แต่เป็นโครงการสำคัญระดับประเทศ" (ธีระ สลักเพชร รมว.วธ.) แน่นอนว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน จชต. ส่งผลให้ทรายขาวได้รับความสนใจทั่วประเทศหลังเหตุการณ์ ทำให้หลายพื้นที่เกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจในกันและกัน โดยเฉพาะผู้คนที่มีวิถี-ความเชื่อแตกต่างกัน
แต่ทรายขาวไม่ได้เป็นเช่นนั้น !?
เริ่มต้นต้องดูสาแหรกของชุมชน ที่จัดได้ว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานก่อนรัชกาลที่ 5 ครั้งพระยาภักดีชุมพลอพยพผู้คนเดินทางมาจากเมืองไทรบุรี อันเนื่องจากไทรบุรีต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
ระหว่าง ทาง ท่านได้พบสถานที่อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำและอาหาร จึงตัดสินใจตั้งบ้านเรือน ณ ที่แห่งนี้ โดยครัวเรือนที่ตั้งขึ้นประกอบไปด้วยผู้คนที่พื้นเพดั้งเดิมจากตรังกานู ไทรบุรี ปะสิส และปีนัง ปนเปกันไปทั้งพุทธและมุสลิม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะตั้งรกรากอยู่ที่นี่ แต่ชาวบ้านยังคงติดต่อค้าขายกับรัฐดั้งเดิมอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งในทุกวัน
เข้าใจว่าเหตุผล 2 ประการที่ทรายขาวเป็นผืนแผ่นดินแห่งความสงบสุข พื้นที่อื่นๆ เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ แต่ที่นี่ไม่เคยมีเหตุการณ์
ประการแรก น่าจะเป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขช่วงระหว่างตั้งชุมชน สอง ภาษาที่สื่อสารที่แตกต่างจากที่อื่น มุสลิมที่นี่แม้จะฟัง-พูดมลายูได้ แต่เวลาสื่อสารจะพูดเพียงภาษาเดียว คือภาษาถิ่นใต้
ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นจากรุ่นสู่รุ่น การเลือกตั้งกำนันในทุกครั้งจึงไม่มีปัญหาความแตกแยกตามมา เพราะมีการตกลงหมุนเวียนดำรงตำแหน่งระหว่างพี่น้องพุทธกับมุสลิม
สำหรับที่ตั้ง ต.ทรายขาว ห่างจากที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ประมาณ 6 กม. ในพื้นที่ 44,130 ตรกม. หรือ 27,581 ไร่ ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน ม.1 บ้านใหญ่, ม.2 บ้านหลวงจันทร์, ม.3 บ้านทรายขาวออก, ม.4 บ้านควนลังงา, ม.5 บ้านทรายขาวตก และ ม.7 บ้านลำหยัง วิถีความเชื่ออยู่ในสัดส่วน อิสลาม 58.80% พุทธ 41.20%
มัสยิดนัจมุดิน (บาโงยลางา-สมัยก่อนเรียกสุเหร่า) ซึ่งตั้งอยู่บ้านควนลังงา ม.4 น่าจะอธิบายความแน่นแฟ้นได้ดี อาจจะเป็นอิสลามสถานที่แปลกแปร่ง เพราะเป็นสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับศาลาการเปรียญ
สันนิษฐานว่าสร้างในปี 2177 รัชสมัยราชินีราตูอูงู บิน สุลต่านมันซูร ซาร์ รัชกาลที่ 8 แห่งราชอาณาจักรปัตตานีดารุสลาม (2167-2178 ช่วงสงครามระหว่างปัตตานีฯ กับกรุงศรีอยุธยา) ถือเป็นศิลปกรรมที่สืบทอดมาจากยุคลังกาสุกะ
ขณะนั้นพระเจ้าปราสาททองได้ส่งกองทัพเข้ามาโจมตี สงครามยืดเยื้อเป็นเวลาแรมปี จึงเป็นที่มาของวีรกรรมอันกล้าหาญของโต๊ะหยางหญิงแห่งบ้านบาโงยลางา (บาโงย-ควนหรือเนิน, ลางา-การปะทะ)
ขณะหนีภัย ท่านได้ตกลงไปในหุบเหวเป็นเวลาหลายวัน หลังสงครามคนที่เข้าไปช่วยต้องตกตะลึง เมื่อเห็นสิ่งที่ท่านกอดแน่นไว้ นั่นคือคำภีร์อัล-กุรอ่านที่เขียนด้วยมือ ปกทำจากเปลือกมะม่วงหิมพานต์
ปัจจุบัน คำภีร์เล่มนี้ถูกเก็บไว้อย่างดีที่บ้านฮัจญีอับดุลเราะห์มัน อิหม่ามคนปัจจุบัน
หลังสงคราม ชุมชนบ้านทรายขาวซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาใหญ่ได้ร่วมกันสร้างสุเหร่า (มัสยิด) โดยความร่วมมือของสองศาสนิก
เล่ากันว่า เจ้าอาวาสวัดทรายขาวยุคนั้นเป็นผู้ออกแบบ ด้วยเหตุผลของความเชื่อถือรวมถึงมุสลิมในพื้นที่ยุคนั้นไม่มีใครรู้เรื่อง สถาปัตกรรมแบบอาหรับเลย เลยมอบภารกิจนี้ให้ท่านเพราะก่อนหน้าที่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านเคยรับอิสลามมาก่อนโดยการแต่งงาน เหตุที่ท่านออกจากมุสลิมเพราะภรรยาได้เสียชีวิต ท่านก็เลยมาบวชที่วัดแห่งนี้และกลายมาเป็นเจ้าอาวาส เล่ากันว่ากระทั่งท่านเองก็ไม่รู้เรื่องศิลปกรรมแบบอาหรับเลย
สุเหร่าแห่งนี้สร้างด้วยไม้แคและไม้ตะเคียน (กายูจืองา) ตัดมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ใช้หวายมัดแทนเชือกลากลงมา จากนั้นใช้ขวานถากเสาเป็นสี่เหลี่ยมขนาดคนโอบ ส่วนกระเบื้องมุงหลังคาทำจากอิฐแดงจากบ้านตาระบาตอ (ต.กะมิยอ อ.เมือง จ.ปัตตานี) ทั้งหลังไม่ใช้ตะปู เพียงใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านจากสิ่วที่ทำด้วยไม้เป็นตัวยึด
มีตามตำนานเล่าขานถึงเสาทั้งหมดว่า ด้วยความที่เสาใหญ่และน้ำหนักมาก ชายสูงอายุคนหนึ่งอาสารับภารกิจ มีข้อแม้ว่าท่านต้องทำตามลำพังช่วงกลางคืน ห้ามใครยุ่งเกี่ยว ในที่สุดช่วงเช้าของทุกวันชาวบ้านจะเห็นเสาตั้งวางวันละต้นๆ
ชาวบ้านเชื่อกันว่ากลางคืนอาจจะมีใครเข้ามาช่วยเหลือท่าน แต่ไม่ใช่คนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี ทั้งพี่น้องพุทธและมุสลิมที่เข้ามาช่วยสร้าง ไม่มีใครสงสัยหรือปริปากถามสักคำ เพียงแต่เป็นการสงสัย
ถือเป็นสุเหร่าร่วมสมัยกับมัสยิดตะโละมาเนาะ (วาดิอัลอุเซ็น – อ.บาเจาะ) และมัสยิดเอาห์ (บ้านนัดตันหยง ต.มะนังยง อ.ยะหริ่ง)
ยังมีบ่อน้ำโบราณ กลองหรือนางญา ที่ใช้ในการตีบอกเวลาละหมาดหรือเตือนภัยเมื่อมีเหตุร้าย จุดเด่นที่ลิ้นทำจากไม้ใผ่ทำให้เกิดเสียงไพเราะ และดังไกลถึง 3 กม.
บ่อน้ำโบราณที่ปัจจุบันยังใช้ได้ดี
ปัจจุบัน ด้านหลังมัสยิด (ญานาซะฮ์) เป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมสายใยชุมชน ขวามือข้างๆ เป็นที่แขวนกลอง ถัดไปเป็นบ่อน้ำโบราณ ภายในเป็นที่เก็บอุปกรณ์การดำรงชีพในสมัยโบราณที่ควบรวมไปถึงเครื่องมือใน การก่อสร้างมัสยิด
กลองหรือนางญา
ที่สะดุดตาน่าจะเป็นถาดเก่าแก่แต่สลักหลังว่าวัดทรายขาว ทั้งๆ ที่เก็บไว้ที่มัสยิด เดาได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนที่มีมาตั้งแต่โบราณ ที่ยามมีงานมีการจะมีการหยิบยืมเครื่องใช้ไม้สอยระหว่างกัน
ถาดทองเหลืองที่ยืมมาจากวัดวันนี้มัสยิดเก็บไว้อย่างดี
และถาดที่เห็น มัสยิดน่าจะหยิบยืมครั้งทำนูหรีในอดีต (กินบุญ)
แต่ดันลืมคืน !!(ฮา)