จากกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า "ขาดทุน คือ กำไร" หลายท่านคงจำกันได้ ผมพยายามตีความว่าพระองค์ท่านทรงหมายถึงอะไร แต่เมื่อไม่นานได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศลาว ได้พูดคุยกับข้าราชการและนักธุรกิจของลาว ในหลายเรื่องโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการลงทุนการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของลาวโดยรวมทำให้คิดถึงกระแสพระราชดำรัสในหลวง ที่ว่าขาดทุนคือกำไร ที่เมืองหลวงพระบางนี่เอง แต่ก่อนที่จะเฉลยถึงสิ่งที่ผมเข้าใจได้ถึงคำนี้เรามาทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของและสัมผัสบรรยากาศเมืองมรดกโลกกันก่อนครับ หลวงพระบางเป็นเมืองเอกของแขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน
ซึ่งไหลมาบรรจบกัน เป็นเมืองที่องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้เป็นมรดกโลก ด้วยเหตุเพราะหลวงพระบางเป็นเมืองเก่าแก่ของอาณาจักรล้านช้าง ตั้งแต่สมัยสถาปนาอาณาจักร ซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่าเมืองซวา (ออกเสียงว่า ซัว) เมื่อประมาณ พ.ศ. 1300 ขุนลอ ซึ่งถือเป็น ปฐมกษัตริย์ของลาวได้ทรงตั้งเมืองซวาเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านช้างและได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า "เชียงทอง"เมื่อพระเจ้าฟ้างุ้ม (พ.ศ.1896 - พ.ศ.1916) เสด็จกลับจากกัมพูชา อันเนื่องจากพระองค์และพระบิดาต้องเสด็จลี้ภัยเพราะถูกขับไล่จากกษัตริย์องค์ก่อน
ซึ่งแท้จริงก็คือพระอัยกาของเจ้าฟ้างุ้มนั่นเอง เจ้าฟ้างุ้มทรงรวบรวมกำลังพลในขณะที่อยู่ในเสียมเรียบ และนำกองทัพนับพันกลับมากู้ราชบัลลังก์คืน และสถาปนาอาณาจักรขึ้น ต่อมาในสมัยพระโพธิสารราชเจ้า พระองค์ได้อาราธนาพระบางซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงคำ ขึ้นมาประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงทองอันเป็นนครหลวง เมืองเชียงทองจึงถูกเรียกว่า หลวงพระบาง นับแต่นั้นมา ดังนั้นวัดเชียงทอง จึงเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมล้านช้าง ณ เมืองพระหลวงบาง
หลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกด้วยเหตุผล คือ มีวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย มีบ้านเรือนอันเป็นเอกลักษณ์โคโลเนียลสไตล์ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมน้ำโขงและน้ำคาน ซึ่งไหลบรรจบกันท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม ประกอบกับผู้คนชาวหลวงพระบางมีบุคลิกที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตร และมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงามตรงกับเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโกคือ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนา ทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตาม กาลเวลา ในขณะที่มรดกโลกแห่งอื่นอาจได้ขึ้นทะเบียนอย่างจำเพาะเจาะจงในโบราณสถาน ธรรมชาติ แต่หลวงพระบางทั้งเมืองได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2538 และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ได้รับการปกปักษ์รักษาที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ณ ดินแดนแห่งนี้ มีสีสัน เรื่องราว และ ความน่าสนใจมากมาย มีมนต์เสน่ห์ของบรรยากาศวัฒนธรรมดั้งเดิม แฝงอยู่ ว่ากันว่าใครก็ตามที่มาเยือนที่นี่ ต่างต้องติดใจ เพราะที่นี่คือที่พักกาย พักใจ ของผู้แสวงหาความสงบเงียบเรียบง่าย เพื่อเติมพลังให้ชีวิต ที่หาได้มุมสงบได้ยากในโลกปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนหลายคนที่แทบไม่มีโอกาสเห็นผ้าเหลืองของจีวรภิกษุรับอรุณเป็นมงคลชีวิต ไม่มีโอกาสได้ตักบาตรยามเช้า อาจเป็นเพราะชีวิตที่รีบเร่งแข่งขันกันทำงานหากิน แต่เรากลับพบเห็นได้ที่นี่ ราวกับว่า ณ ที่แห่งนี้มีเวลามากกว่าที่ใดในโลก ดังนั้นกิจกรรมแรกรับอรุณที่หลวงพระบางแห่งนี้คือการตักบาตรเช้า อีกหนึ่งกิจกรรมที่เราไม่ควรพลาด เพื่อเติมบุญให้ชีวิตเกิดความสุขสงบ ในรูปแบบเรียบง่าย อากาศสดชื่นสวยงาม แดดอ่อนสีทองตัดกับม่านหมอกยามเช้า การตักบาตรเช้า เริ่มในช่วงเวลาประมาณ 5.30น.เป็นต้นไป ในตัวเมืองจะมีพระออกบิณฑบาตร
โดยพระสงฆ์ทุกวัดจะออกเดินเป็นแถวยาว อย่างสงบสำรวม ผู้ที่จะตักบาตร จะเตรียมข้าวของไปเองหรือหากไม่สะดวกที่บริเวณริมถนนจะมีเหล่าแม่ค้า นำข้าวเหนียวมาขายเป็น กระติ๊บๆ เราสามารถซื้อตักบาตรได้เลย มาถึงหลวงพระบางแล้ว ไม่ได้ตักบาตรเซ้า คงน่าเสียดายกับความสุขการเติมบุญต่อชีวิตเพื่อเป็นศิริมงคลตนเองนะครับ และที่แปลกตาคือ พระแต่ละวัด จะนุ่งห่มจีวรสีไม่เหมือนกันด้วยครับ
มาหลวงพระบาง ต้องมาที่วัดวัดเชียงทองครับ เพราะที่นี่คือตัวอย่างสถาปัตยกรรมล้านช้าง เป็นศูนย์รวม สถาปัตยกรรมของลาว วัดเชียงทองสร้างโดย พระไชยเชษฐาธิราช ก่อนที่จะย้ายเมืองไปยัง นครเวียงจันทน์
พระอุโบสถ วัดนี้มีจุดเด่นตรงที่มีหลังคาโค้ง และ ชายหลังคา ต่ำลงมา ซ้อนกัน 3 ชั้น สำหรับอุโบสถ นี้ ชาวลาว เรียกกันว่า "สิม" บริเวณกลางหลังคา จะมีช่อฟ้า ซึ่งวัด ที่พระมหากษัตริย์สร้างนั้นจะ มีช่อฟ้า 17 ช่อ แต่ถ้าเป็นคนธรรมดา จะมี ช่อฟ้า 1 - 7 ช่อเท่านั้น ด้านหลังของ พระอุโบสถ มีภาพที่สวยงาม โดยการนำกระจกสี ตัดแล้วประดับเป็นภาพ ในภาพ เป็น ต้นทอง ซึ่งเคยมีขึ้นอยู่มากมาย ในบริเวณเมืองหลวงพระบาง
ด้านหลังของพระอุโบสถ มีวิหาร เล็กๆหลังหนึ่ง ซึ่ง เรียกกันว่า วิหารพระม่าน ที่ชาวลาวเชื่อกัน ว่าหากอัญเชิญ พระม่าน ออกจากวิหาร แล้วจะเกิดฝนตกไม่หยุด จึงจะทำการอัญเชิญ มาให้ประชาชนสรงน้ำ ในช่วงวันบุญปีใหม่เท่านั้น ดังนั้นหากจะชมก็ต้องส่องดูจากรูที่ประตูวิหารได้เท่านั้น อูบมุง เหมือนอุโมงค์เล็กๆ อยู่ด้านข้าง พระอุโบสถ ภายในจะประดิษฐาน พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเอาไว้
โรงเมี้ยนโกศ (คำว่าเมี้ยนภาษาลาวแปลว่าเก็บอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย)เป็นที่เก็บราชรถ พระโกศของ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา จุดเด่นของ โรงเมี้ยนโกศนี้อยู่ที่ช่วงหน้าบันด้านหน้า ซึ่งลงรักปิดทองเล่าเรื่องราว รามเกียรติ์ งดงามมาก ยิ่งเวลาบ่ายๆ แสงแดด ส่องมาเต็มที่ ยิ่งสวยงามจับใจเลยครับ ภายในนั้น มีราชรถไม้ และมี พระโกศ 3 องค์ ทั้งของเจ้าศรีสว่างวัฒนา พระราชมารดา และ พระเจ้าอา
พระราชวัง หลวงพระบางนับว่าเป็นสถานที่ เที่ยว ที่หนึ่ง ที่ไม่ควรพลาด พระราชวังหลวงพระบางเป็นที่ประทับ ของเจ้า มหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ภายใน ประกอบ ด้วยห้องต่างๆ มากมาย เช่นห้องท้องพระโรง ซึ่งตกแต่ง ประดับประดา กระจก บน ผนัง และเพดาน สีแดง ห้องรับแขกซึ่ง มีรูปของท่าน ในลักษณะ 3 มิติ ห้องบรรทม ฯลฯ ภายนอกนั้น โดดเด่น ด้วยสถาปัตยกรรม แบบ ฝรั่งเศส ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมลาว อย่างลงตัว ด้านหน้า มีต้นตาล ซึ่ง ปลูกเป็นแถว นับเป็นมุมที่สวยที่สุดของ วังนี้
หอพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และยังเป็นที่มาของชื่อ เมือง " หลวง-พระบาง " อีกด้วย เป็นพระพุทธรูปปรางค์ ห้ามสมุทร ศิลปะขอม ทำจากทองคำ ปัจจุบัน หอพระบางนี้ อยู่บริเวณ พระราชวัง เราสามารถ กราบไหว้ และชมได้ แต่ห้ามถ่ายรูป ครับ
พระธาตุหมากโม อยู่ใน วัดวิชุนราช ซึ่งสร้างวัดนี้เพื่อประดิษฐานพระบาง พระธาตุ หมากโม นี้ มีลักษณะคล้ายแตงโมผ่าครึ่งซีก จึงเป็นที่มาของชื่อพระธาตุหมากโม ซึ่งแปลว่า แตงโมนั่นเอง
บ้านช่างไห ก่อนที่เราจะเดินทางไปเที่ยวถ้ำติ่ง ถ้าเราลงเรือ ที่บ้าน ช่างไห ก็จะได้เดินเที่ยว ตลาดขายของ ของหมู่บ้านนี้อีกด้วย ซึ่งบ้านช่างไหนี้ ชื่อเค้าก็บอกอยู่ว่าต้องมีความสัมพันธ์กับไห แต่ไหที่ว่านี้ เป็นไหเหล้าครับ ไม่ใช่ไหปลาร้า แต่ประการใด ที่นี่มีการต้มเหล้า กันเป็นหลัก ซึ่งใครสนใจก็ไปดูเค้าต้มกันได้ สำหรับคอสุรา ก็คงจะเกิดอาการอยากตั้งแต่ได้กลิ่นแล้ว หละครับ เพราะกลิ่นเหล้าจะคลุ้งอยุ่ทั่วไปหมด
สินค้าที่มีขายบริเวณนี้ก็จะมี ทั้งผ้า ของฝากต่างๆ รวมถึงของป่า ประเภทเพิ่มพลังด้วย เช่นงูเห่าในขวด ยาดอง (จริงหรือไม่ก็ต้องไปพิสูจน์กันเองครับ)
ถ้ำติ่ง ที่ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูป เล็ก ใหญ่ นับพันองค์ ตั้งอยู่บนเขาหินปูน ริมแม่น้ำโขง เราต้องนั่งเรือหางยาว (ลำใหญ่มาก) เพื่อเข้าชม แต่เดิม ชาวลาวในอดีตเคย นับถือผี จนกระทั่ง พระเจ้าโพธิสารราช นำ ศาสนาพุทธมาเผยแพร่ และได้เปลี่ยนถ้ำติ่งจากเดิม ที่เคยเป็นที่ สักการะบูชา ผี เทวดามาเป็น สถานที่ทางพุทธศาสนา แทน แต่ก่อนเมื่อ ถึงปีใหม่ เจ้ามหาชีวิต จะทำการเดินทางมาสรงน้ำพระในถ้ำติ่งนี้ ถ้ำติ่งล่าง ( ถ้ำติ่งลุ่ม) มีพระพุทธรูปมากมาย และสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า โดยมีบันไดเดินขึ้นจากท่าเรือ มีพระพุทธรูป หลายพันองค์ ทั้งทำจากไม้ และโลหะ ถ้ำติ่งบน ต้องเดินขึ้นบันได ประมาณ 200 ขั้น แต่จะ มีโถงถ้ำ ที่ตื้นกว่า ถ้ำติ่งล่าง มีพระน้อยกว่าเช่นกันจากถ้ำ จะสามารถมองเห็น แม่น้ำโขงสองสีได้อย่างชัดเจน
น้ำตกกวางซี น้ำตกหินปูน ขนาดกลาง นับว่าสวยที่สุดในหลวงพระบาง มีความสูง ประมาณ 70 เมตร ทางด้านล่างเป็นแอ่งน้ำ มีสะพานเชื่อมสามารถ เดินข้ามไปอีกฝั่ง เพื่อขึ้นชมชั้นบนของน้ำตกได้ น้ำที่ตกลงมาสวยใสมากครับ
วัดพระบาทใต้ หรือเรียกกันว่าวัดญวณ มีเจ้าอาวาสเป็น ชาวเวียตนาม จุดเด่นของวัดนี้ คือรอยพระพุทธบาท ทางด้านหลังวัด ลวดลายของอุโบสถ แบบจีน เวียตนาม ซึ่งเขียนแบบเสตนซิล และพระพุทธเจ้าปางประสูติ ด้านหลังของวัด นับว่าเป็นจุดที่ชมพระอาทิตย์ตกได้สวยงามมากจุดหนึ่ง
ตลาดมืด (หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นตลาดขายของผิดกฏหมายหรือขายของหนีภาษี แต่ความหมายจริงๆก็คือตลาดที่ขายของยามค่ำคืนนั่นเอง นี่แหละเสน่ห์ของภาษาลาว ซื่อๆง่ายๆตรงๆ ไม่ต้องคิดนานแปลนาน
ยามค่ำคืน บริเวณ ถนน ศรีสว่างวงศ์ จะปิด แล้วถูกแปรสภาพกลายเป็น ตลาดมืด ขายของพื้นเมือง มีหลากหลายให้เรา เลือกซื้อ ทั้งกระเป๋า ผ้าพันคอ ปลอกหมอน จนถึงผ้าปูที่นอน สร้อย แหวน กำไล หรือ ธูปหอม ฯลฯ เจียระไนไม่หมดครับ เอาเป็นว่า น่าซื้อไปเสียหมด (สำหรับสุภาพสตรีจิตใจไม่เข้มแข็งอาจจะเป็นโรคหอบเอาง่ายๆ) ส่วนราคาก็ต้องต่อรองเอาเอง เหมือนบ้านเราแนะนำว่าควรสอบถามราคา หลายๆร้าน บางร้านอยู่ไกลหน่อย ราคาก็ถูกลงครับ ถนนนี้ มีคำพูดเล่นๆว่า เมืองไทยมี ถนนข้าวสาร ถนนนี้ เป็น พี่น้องกัน ชื่อ ถนนข้าวเหนียว ส่วนหนึ่ง ของ สินค้า จากหลวงพระบาง มีสไตล์ ที่โดดเด่น และแตกต่าง เป็นกระเป๋าเอนกประสงค์รูปผู้บ่าว-ผู้สาว (ชาย-หญิง) น่ารักดีครับ ส่วนเงินตราที่ใช้จ่ายที่หลวงพระบางใช้ได้ 3 สกุลเงินคือ ดอลล่าร์ เงินบาท และเงินกีบ แต่ที่ผมชอบใช้คือเงินกีบเพราะอัตราแลกเปลี่ยนเงินไทยกับเงินกีบอยู่ที่ประมาณ 1 บาทต่อ 250 กีบ ซื้อของทีนึงจ่ายเป็นแสน ให้ความรู้สึกดีชะมัดอยู่เมืองไทยหมดสิทธิ์แม้แต่จะคิดครับ มาถึงบรรทัดนี้สิ่งที่ผมค้างไว้ในช่วงแรกที่บอกว่าเข้าใจถึงกระแสพระราชดำรัสของในหลวง ขาดทุนคือกำไร นั้น เปรียบเทียบได้กับหลวงพระบางยามนี้ ที่การพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานอาจไม่ทัดเทียม กับเมืองใหญ่ๆ เช่นเมืองอื่น ดูเหมือนขาดทุน แต่ที่กลับได้กำไรในเรื่องของความเจริญด้านจิตใจ ความสุขสงบเรียบง่ายท่ามกลางบรรยากาศความสวยงามของธรรมชาติและวัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม ทำให้หลายคนที่เคยอยู่เมืองใหญ่สับสนวุ่นวาย ต่างเฝ้าฝันว่าสักวันจะได้มีโอกาส มาพักกาย พักใจเพื่อผ่อนคลายหายเหนื่อยกับการดิ้นรนต่อสู้ในเมืองใหญ่ แม้ว่าไม่มีโอกาสได้อยู่ตลอดชีวิตแต่ขอเพียงสัก 2-3 วันก็นับได้ว่า เกินคุ้ม ย้อนกลับมาบ้านเรา สถานที่เช่นนี้หาอยากเต็มที คิดดีๆแล้วแล้วอิจฉาคนหลวงพระบางจังเลย..
0 comments:
Post a Comment
A lot of Thank for your comment.